ปรากฏการณ์ “การตายอย่างโดดเดี่ยว (โคโดคูชิ)” ที่ตอนนี้เป็นปัญหาระดับชาติของญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา ชายชราวัย 80 ปีคนหนึ่งถูกพบศพหลังจากเสียชีวิตนานกว่าหนึ่งเดือนภายในห้องพักกลางกรุงโตเกียว เหตุการณ์น่าสลดใจเช่นนี้มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นมากขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ที่ประชากรเกือบหนึ่งในสี่เป็นผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว
“โคโดคูชิ” หรือ การตายอย่างโดดเดี่ยว ที่กำลังเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุมากกว่า 127 ล้านคน (ประชากรอายุเกิน 65 ปี มีสัดส่วนถึง 27.7%) และชาวญี่ปุ่นในวัยกลางคนจำนวนมาก ล้มเลิกความพยายามหาคู่ครอง แต่เลือกอยู่โดยลำพังแทน
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นส่วนผสมของวัฒนธรรรมอันเป็นเอกลักษณ์แบบญี่ปุ่น ตลอดจนปัจจัยด้านสังคมและโครงสร้างประชากร
ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการว่า คนที่เสียชีวิตลำพังโดยไม่มีใครรู้จนล่วงไปหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ มีจำนวนเท่าใดแน่ แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ประเมินว่า ราว 3 หมื่นคนต่อปี (ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวมากกว่า 5 ล้านคนทั่วญี่ปุ่น โดยจำนวนนี้คือคนที่อยู่คนเดียวจริงๆ ไม่มีญาติพี่น้องมาดูแลเลย)
เชื่อว่าตัวเลขแท้จริง น่าจะสูงกว่านี้ 2 – 3 เท่า ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างขนานใหญ่ แต่เครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมของประเทศปรับตัวไม่ทัน ภาระดูแลผู้สูงอายุยังอยู่กับครอบครัวเป็นหลักคัตทึฮิโกะ ฟูจิโมริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการ จากสถาบันวิจัยและข้อมูลมิซูโฮ กล่าวว่า
“ในญี่ปุ่น ครอบครัวเป็นรากฐานแข็งแกร่งของการสนับสนุนทางสังคมทุกสิ่งอย่างมาช้านาน แต่เวลานี้ สถานการณ์เปลี่ยนไป คนโสดเพิ่มขึ้น ขนาดครอบครัวเล็กลง”
ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ครัวเรือนที่มีผู้อาศัยเพียงคนเดียว มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสองเท่า เป็น 14.5% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ชายวัย 50 ปีเศษ และผู้หญิงวัย 80 ปีขึ้นไป ขณะที่อัตราการแต่งงานก็ลดลง ผู้ชายจำนวนมากรู้สึกว่าหน้าที่การงานของตนเอง สำคัญเกินกว่าจะลงหลักปักฐานและสร้างครอบครัว ขณะผู้หญิงก็เข้ามาเป็นกำลังแรงงานมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องอาศัยสามีเลี้ยงดู
ปัญหานี้ยังถูกทับถมด้วยวัฒนธรรมฝังรากลึกในอันที่จะเปลี่ยนจากการพึ่งแต่ครอบครัว หันไปหาบ้านในยามลำบาก ฟูจิโมริ กล่าวว่า
– “ผู้สูงอายุญี่ปุ่นเกรงใจไม่กล้ารบกวนเพื่อนบ้าน แม้แต่ขอความช่วยเหลือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ผลจึงเป็นการขาดปฏิสัมพันธ์ และการโดดเดี่ยวตัวเอง”
ด้วยรูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้อาชีพใหม่ๆเกิดขึ้นเยอะเช่นกัน อย่างเช่น ฮิโรสุกุ มัตสุดะ ผู้ที่รับหน้าที่ทำความสะอาดห้องพักที่เจ้าของห้องวัยชราจากไปอย่างโดดเดี่ยว เขาถูกตามตัวให้ไปทำงานสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง บริษัทของเขารับทำความสะอาดเฉพาะห้องพักที่มีผู้เสียชีวิต โดยคิดค่าใช้จ่ายระหว่าง 81,000 เยน จนถึง 341,000 เยนตามขนาดห้องพัก
เนื่องจากมีครอบครัวจำนวนมากอาจอาศัยอยู่ไกลออกไป หรือไม่มีกำลังทรัพย์มาจุนเจือญาติวัยชราในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ฟูจิโมริจึงสนับสนุนให้รัฐบาลขึ้นภาษีเพื่อนำมาใช้ยกระดับประกันสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ช่วยเหลือการเงินเรื่องดูแลบุตร และเปิดทางให้ประชากรอายุมากที่ทำงานได้กลับมาทำงาน หากครอบครัวไม่อาจมีบทบาทได้อย่างที่เคย สังคมจะต้องสร้างกรอบการทำงานที่ตอบสนองความจำเป็นนี้ หากไม่ลงมือทำอะไรเลย เราจะเห็นการตายอย่างโดดเดี่ยวเพิ่มขึ้น
ถึงแม้ว่ามนุษย์ทุกคนจะต้องตาย แต่ปรากฏการณ์ “ตายอย่างเดียวดาย” ได้สะท้อนอีกแง่มุมของประเทศญี่ปุ่น ที่ได้พัฒนาประเทศจนเจริญก้าวหน้า หากแต่ระบบครอบครัวที่เคยผูกพันแน่นหนากลับสูญสลายไปอย่างไม่มีวันหวนคืน และหลายๆประเทศก็กำลังจะเดินตามรอยเช่นเดียวกัน