วันฮาโลวีน เรามักจะคุ้นเคยเรียกกันเป็นภาษาปากว่า วันปล่อยผี ในวันดังกล่าวมักมีการจัดตกแต่งบ้านเรือน ร้านค้า โดยใช้ฟักทองที่คว้านเป็นรูปผี หรือใช้วัสดุอื่น ๆ ประดิษฐ์เป็นตัวผีหรือทำให้มีหน้าตาเป็นผีเพื่อสร้างบรรยากาศให้กลายเป็นงานรื่นเริง วันฮาโลวันมีที่มาอย่างไร และเหตุใดจึงเรียกเช่นนั้นในเรื่องนี้ คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล แห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้จัดทำคำอธิบายถึงประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจของ “ฮาโลวีน” ไว้ดังนี้
ในคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิก Halloween เป็นคำภาษาอังกฤษ เพี้ยนมาจากคำ All Hallows Evs ซึ่งแปลว่า วันก่อนวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย โดยวิธีตัดต่อ Hallow + Eve = Halloween
คำ Hallow เป็นคำแองโกลแซกซัน แปลว่า ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ตรงกับภาษาเยอรมันว่า heiligen ในปัจจุบันนิยมใช้คำมาจากภาษาละตินว่า sanctify คำ Hallow ยังมีใช้ในบทสวดอธิษฐานเก่า ๆ เช่น Hallowed be thy Name
(ขอพระนามจงเป็นที่สักการะ)
คำ Hallow ยังแปลว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ นักบุญ คำ All Hallowmas จึงแปลว่า วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย ในปัจจุบันใช้คำว่า All Saints Day คู่กับ Christmas ซึ่งแปลว่า วันสมโภชพระคริสต์หรือคริสต์มาสนั่นเอง วันก่อนวันสมโภชคริสต์มาสมี Chrismas Eve ที่นิยมเรียกว่า คืน (ก่อน) คริสต์มาส วันก่อนวันสมโภชนักบุญทั้งหลายก็มี All Hallowmas Eve ซึ่งต่อมาย่อเป็น Halloween โดยมีงานรื่นเริงและพิธีกรรมทางศาสนาเช่นเดียวกับคืนคริสต์มาส ชาวคาทอลิกพร้อมใจกันเลื่อนพิธีกรรมทางศาสนาไปหลังวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย และเรียกว่า วันวิญญาณในแดนชำระ (All Souls Day) เพื่อให้คู่กับวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย (All Saints Day)
การสมโภชนักบุญทั้งหลายเริ่มโดยสันตะปาปาโบนีเฟสที่ 4 (Boniface IV ครองอำนาจ ค.ศ. ๖๐๘–๖๑๕) โดยกำหนดวันที่ ๑๓ พฤษภาคมของทุกปี ตั้งแต่ ค.ศ. ๖๑๓ เป็นต้นมา สาเหตุเนื่องจากเป็นวันเปิดโบสถ์แพนทีอัน (Pantheon) อันเป็นโบสถ์สรรพเทพของชาวโรมันมาแต่เดิม และจักรพรรดิโฟกัส (Phocas) ยกให้เป็นของคริสต์ศาสนา ต่อมา สันตะปาปากรีโกรีที่ ๔ (Gregory IV ครองอำนาจ ค.ศ. ๘๒๗–๘๔๔)
เปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ พฤศจิกายน ตั้งแต่ ค.ศ. ๘๓๕ เป็นต้นมา
ชาวคาทอลิกขณะนั้นถือว่าวันฮาโลวีนมีความสำคัญคู่เคียงกันกับวันคริสต์มาสและวันอีสเตอร์จึงเริ่มงานตั้งแต่วันก่อนหรือวันสุกดิบ ขณะนั้นเกาะอังกฤษยังรับอำนาจของสันตะปาปาอยู่ ชาวอังกฤษจึงรับนโยบายของสันตะปาปาไปปฏิบัติตามด้วยเหตุที่ชาวเผ่าเคลต์ของเกาะอังกฤษ (ไอร์แลนด์และสกอตแลนด์)
ถือเอาวันที่ ๑ พฤศจิกายน เป็นวันต้นฤดูหนาวและเป็นวันขึ้นปีใหม่ (Samhoin) มาเป็นเวลานานแล้ว โดยจัดพิธีเป็น ๒ วัน คือวันสุกดิบ
(๓๑ ตุลาคม) เป็นวันทำบุญเลี้ยงผี ซึ่งเชื่อกันว่าทั้งคืนจะมีผีออกเพ่นพ่านรับส่วนบุญ เมื่อจัดทำพิธียกอาหารทำบุญแล้วก็ปิดประตูหน้าต่างอยู่แต่ในบ้านอธิษฐานขอให้ผีไปที่ชอบ ๆ วันรุ่งขึ้น
(๑ พฤศจิกายน) เป็นวันปีใหม่ ได้ทำพิธีบูชาเทพเจ้าตามด้วยการรื่นเริงตามประเพณี เมื่อชนพวกนี้ยอมรับนับถือศาสนาคริสต์แล้วก็ยังคงปฏิบัติประเพณีนี้ต่อมา ครั้นได้รับนโยบายจากสันตะปาปาแล้ว ผู้นำศาสนาก็หาวิธีแทรกพิธีกรรมของศาสนาคริสต์เข้ากับประเพณีเดิม วันสุกดิบจึงกลายเป็นวันทำบุญให้วิญญาณของผู้ล่วงลับที่อาจจะยังไม่ได้ขึ้นสวรรค์ คือวิญญาณที่ยังใช้โทษใช้บาปกรรมของตนยังไม่หมดสิ้น ยังอยู่ในแดนชำระ (purgatory) จึงทำพิธีสวดอ้อนวอนขอพระเป็นเจ้าเมตตาให้ได้ขึ้นสวรรค์เร็วขึ้น
วิญญาณเหล่านี้จึงไม่น่ากลัวเหมือนผีที่เร่ร่อนขอส่วนบุญ เมื่อชาวบ้านหันมานับถือศาสนาคริสต์แล้วก็ไม่เชื่อเรื่องผีมาขอส่วนบุญอีก แต่ก็ยังถ่ายทอดประเพณีนี้ต่อไป โดยปรับให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ คือคืนวันสุกดิบถือเป็นคืนเล่นผี มีผู้แต่งตัวสมมุติเป็นผีออกเพ่นพ่านขอส่วนบุญ ใครที่ไม่ชอบแต่งตัวเป็นผีก็ยินดีจัดเลี้ยงต้อนรับผีในครอบครัวของตน โดยคว้านฟักทองหรือใช้วัสดุอื่นทำให้มีหน้าตาเป็นผี สร้างบรรยากาศให้มีผีในบ้านต้อนรับผีนอกบ้าน กลายเป็นงานสนุกสนานรื่นเริงที่มีบรรยากาศแปลก วันรุ่งขึ้นจึงเป็นวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย และต่ออีกวันหนึ่งจึงเป็นวันทำบุญให้วิญญาณในแดนชำระ
เมื่อชาวไอริชและชาวสกอตอพยพไปตั้งหลักแหล่งในสหรัฐอเมริกาก็นำเอาประเพณีนี้ไปปฏิบัติ ปรากฏว่าถูกใจชาวอเมริกันทุกเชื้อชาติ จึงปฏิบัติตามกันอย่างจริงจังตลอดมา และตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมาก็กลายเป็นเทศกาลประจำชาติมาจนทุกวันนี้
การปฏิบัติในคืนวันฮาโลวีน
อังกฤษ
ที่ประเทศนี้ถือว่าวันฮาโลวีนนี้เป็นวันดี เหมาะสำหรับจัดงานแต่งงาน การทำนายโชคชะตา หรือแม้แต่เรื่องความตายยังถือว่า วันนี้เป็นเพียงวันเดียวที่ภูติผีวิญญาณจะช่วยดลบันดาลให้สิ่งที่คนเป็นต้องการสามารถเป็นไปตามใจปรารถนา ประมาณเที่ยงคืนของวันฮาโลวีนสาวอังกฤษจะออกมาหว่าน และไถกลบเมล็ดป่าน พร้อมตั้งจิตอธิษฐาน และท่องคาถาร้องขอให้มองเห็นภาพของว่าที่คู่ชีวิตของตนในอนาคต เมื่อสาวเจ้าเหลียวมองผ่านบ่าด้านซ้ายก้จะได้เห็นภาพนิมิตของผู้ที่จะมาเป็นสามีของตนในอนาคต
อีกประเพณีหนึ่งของชาวอังกฤษ คือ การหย่อนเหรียญ 6 เพนนีลงในอ่างน้ำ พร้อมแอปเปิ้ล ผู้ใดสามารถแยกแยะของสองสิ่งนี้ออกจากกันได้โดย ใช้ปากคาบเหรียญ และใช้ส้อมจิ้มแอปเปิ้ลให้ติดได้ในครั้งเดียว ผู้นั้นจะมีโชคดีตลอดปีใหม่ที่กำลังจะมาเยือน
อเมริกา
พวกเด็กๆ จะสนุกสนานมากในคืนวัน "ฮาโลวีน" เพราะพวกเขาจะได้แต่งตัวเลียนแบบคนตาย เช่น เป็นโจรสลัด, กัปตัน, โครงกระดูก, หญิงในสมัยโบราณ หรือสุดจะคิดค้นกันขึ้นมาอย่างในสมัยปัจจุบัน และก็เดินไปเคาะประตูตามบ้านต่างๆ เพื่อขอขนม, ลูกกวาด ฯลฯ โดยเฉพาะบ้านที่มีลูกฟักทองล้วงเนื้อออกเพื่อใส่เทียนเข้าวางไว้ และจะมีแสงสว่างออกมาจากรูจมูก, ลูกตาและปากที่เจาะไว้บนลูกฟักทอง ตั้งไว้หน้าบ้าน เด็กๆ จะเคาะประตูและเมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตู พวกเขาก็จะร้องทักว่า "Trick or Treat" ซึ่งเด็กๆ ทั่วไปก็เป็นเพียงคำพูดไร้เดียงสา เพื่อพูดตามธรรมเนียมการขอขนม พวกเขาไม่เข้าใจความหมายแท้จริงของมัน เพราะว่าคำว่า "Trick or Treat" คำนี้ เป็นคำคล้ายคำพูดของพวกบูชาลัทธิปีศาจ ทำนองว่า ทำสนธิสัญญาตกลงกับมันหรือไม่ก็จะมีการล่อลวงเพราะพวกเด็กๆ จะแต่งตัว เป็นผู้ล่วงลับหรือผี ก็มาขู่เจ้าของบ้าน เด็กๆ ไม่เข้าใจความหมาย แท้จริง ก็เลยพูดกันมาตามธรรมเนียม และพวกเขาก็ไม่ได้รู้สึกไม่ดีอะไร เพียงแต่สนุกสนานเท่านั้น
พวกเจ้าของบ้านเมื่อเอาขนม, ลูกกวาดออกมาให้แล้ว บางแห่งก็จะมีการร้องเพลงให้แก่บ้านนั้น ซึ่งบางแห่งดั้งเดิมก็จะสวดภาวนาให้แก่เจ้าของบ้าน หรืออุทิศแด่วิญญาณผู้ล่วงลับ เราไม่จำเป็นต้องทำให้เด็กเสียความรู้สึกกับคำว่า "Trick or Treat" แต่ควรสอนเด็กๆ ว่า ปีศาจซ่อนเร้นอยู่ในรูปภายนอกที่ดูสวยงามคอยหลอกลวงเรา คล้ายมันใส่หน้ากาก หลอกลวงผู้คนเพื่อปิดบังโฉมหน้าแท้จริงของมัน พระคัมภีร์กล่าวว่า "เราทั้งหลายรู้ว่า คนที่เกิดจากพระเจ้าไม่ทำบาป แต่พระบุตรของพระเจ้าได้ทรงคุ้มครองรักษาเขา และมารร้ายไม่แตะต้องเขา เราทั้งหลาย รู้ว่าเราเกิดจากพระเจ้า และโลกทั้งสิ้นอยู่ใต้อานุภาพของมารร้าย" (1ยน. 5:18-19)
ธรรมเนียมการขอขนมก็มาจากประเทศอังกฤษอีกธรรมเนียมหนึ่ง คือ ธรรมเนียมวัน "กี ฟอว์เก" อันเป็นวันฉลองต่อต้านพวกคาทอลิกในประเทศอังกฤษ "กี ฟอว์เก" เป็นคนไม่รอบคอบแต่มีหน้าที่ดูแลคลังดินปืน ที่วางแผนจะระเบิดรัฐสภาของอังกฤษ และกษัตริย์เจมส์ ที่ 1 ทรงรู้เข้าเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1605, นาย "กี ฟอว์เก" ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ช่วงนี้เองที่บรรดาพวกนึกสนุกก็จะสวมหน้ากากและไปเยี่ยมเยียน บ้านชาวคาทอลิกที่กำลังถูกเบียดเบียนตอนกลางคืนและขอขนมเค้กและเบียร์มาทานกัน วัน "กี ฟอว์เก" มาถึงประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับการตั้งนิคมใหม่ของชาวอังกฤษพวกแรกบนทวีปอเมริกา กษัตริย์เจมส์ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากวิถีชีวิต แต่ธรรมเนียม ปฏิบัติยังคงสนุกสนานเกินกว่าจะลืมเลือนได้ ที่สุดเพราะวัน "กี ฟอว์เก" ซึ่งตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน ใกล้กับวันฉลองนักบุญทั้งหลาย ก็เลื่อนเอาธรรมเนียมขอขนมตามบ้านตอนกลางคืนมาไว้กับวัน "ฮาโลวีน" พร้อมกับการแต่งตัวแปลกๆ ด้วยเลย
แม้ว่า การจัดงาน วัน "ฮาโลวีน" ในปัจจุบันจะไม่บ่งถึงต้นตอของที่มาทางความคิด เรื่อง "นักบุญ", และ "ผู้ล่วงลับ" อีกทั้งกลายเป็นงาน "ปาร์ตี้" ทางโลกเต็มตัวไปแล้ว แต่ผมเชื่อว่าหากความสนุกสนานจะมีควบคู่ไปกับชีวิตเราแล้วล่ะก้อ, วัน "ฮาโลวีน" ในฐานะเป็นงานสังสรรค์และเพิ่มสีสันให้กับชีวิตก็ไม่น่ารังเกียจอะไร โดยยังมีความหมายว่า "นรก" มีจริง และ "เราควรจะหลีกเลี่ยงให้ได้", วัน "ฮาโลวีน" น่าจะเตรียมเราให้ระลึกถึงผู้ที่จากเราไปก่อนล่วงหน้าในความเชื่อ, พวกเขาได้อยู่บนสวรรค์ และพวกที่ยังต้องชดใช้โทษบาปในไฟชำระ หากใครบางคนหลีกเลี่ยงงาน "ฮาโลวีน" ไม่ได้จริงๆ หรือมีคนมาทักว่างานนี้จะทำให้เด็กๆ กลับไปบูชาปีศาจ ผมก็แนะนำให้บอกต้นตอการเกิดวัน "ฮาโลวีน" ที่แท้จริงแก่พวกเขา และให้พวกเขาได้รู้จัก รากความเชื่อแท้จริงของคาทอลิกอันเกี่ยวกับความตาย, นักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ และวิญญาณในไฟชำระอันเป็นความเชื่อสำคัญอันหนึ่งของเรา
หากเราคริสตังจะจัดงานวันฮาโลวีนการรับวัฒนธรรมจากประเทศทางตะวันตก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะแผ่มาทางภาพยนตร์, ข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต หนังสือและบทเพลง จนกระทั่งลูกหลานรับกระแสงานวัน "ฮาโลวีน" เราผู้เป็นคริสตังและผู้ใหญ่อาจจะถือว่าเป็นการสนุกรื่นเริงในบ้าน, เพื่อนบ้าน, เพื่อนๆ ของลูกๆ ใกล้หูใกล้ตาเราภายในครอบครัว ก็อาจทำได้ ซึ่งไม่ควรปล่อยลูกหลานไปจัดกันเอง หรือไปจัดกันตามสถานที่ต่างๆ เพราะเป็น เวลากลางคืนอีกทั้งเราควบคุมความปลอดภัยไม่ได้ ส่วนครอบครัวใดที่ไม่มีกระแสตะวันตก ในบ้านก็ไม่ต้องกังวลอะไรกับการจัดงานนี้อย่าลืมว่า ชาวต่างชาติที่เป็นคาทอลิก เมื่อเขาจัดงานวัน "ฮาโลวีน" (31 ตุลาคม) อันเป็นวันสุกดิบก่อนฉลองนักบุญทั้งหลายนั้น เป็นงานรื่นเริงทางสังคม มิใช่พิธีกรรมคาทอลิก แต่ควรแฝงความคิดเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายอันเป็นความเชื่อแบบคริสตังเข้าไว้ด้วย และไม่จำเป็นที่เด็กๆ จะต้องแต่งตัวเป็นนักบุญเพียงอย่างเดียว, การแต่งตัวเป็นวิญญาณต่างๆ และตัวละครที่เกี่ยวข้องกับนรก ก็สื่อความหมายดั้งเดิม การระลึกถึงวิญญาณทุกดวงของคริสตังโบราณว่าเราไม่ลืมเขา
ตำนานตะเกียงฟักทอง
หลังจากแจ็ค โอ แลนเทริน ได้ตายไปแล้ว เขาปฏิเสธที่จะขึ้นไปอยู่บนสวรรค์เพราะเขามีความคิดไปในทางของความชั่วร้าย แต่เขาก็ยังปฏิเสธที่จะไปอยู่ที่นรกเพราะเขาได้ทำข้อตกลงกับซาตานไว้ดั้งนั้นซาตานได้ให้ถ่านไฟแก่เขาหนึ่งก้อนแทน เพื่อที่จะให้เขาใช้นำทางไปในทางที่มืดและหนาวเย็น ถ่านไฟก้อนนั้นได้ถูกใส่ไว้ข้างในของผักกาดที่กลวงแล้วเพื่อที่จะให้มันจุดอยู่ได้นาน
คนอังกฤษใช้ผักกาดกลวงนี้ตามแบบอย่างดั้งเดิมของ แจ็ค โอ แลนเทรินแต่เมื่อมีการโยกย้ายไปสู่อเมริกาพวกเขาพบว่าฟักทองนั้นสามารถหาได้ง่ายกว่าผักกาด ดังนั้นรูปแบบแจ็ค โอ แลนเทรินในอเมริกาจะอยู่ในรูปของฟักทองกลวงและใส่ถ่านไฟไว้ข้างใน
ในทุกๆวันนี้มีโบสถ์เป็นจำนวนมากที่ได้มีการจัดงานปาร์ตี้วันฮาโลวีน รวมถึงสถานบันเทิงต่างๆ อีกหลายแห่งยังไงก็อย่าลืม “เมาไม่ขับ” นะคะจะได้ฉลองปาร์ตี้ฮาโลวีนกันได้สนุกแถมยังไม่สร้างปัญหาให้สังคมด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก
คุณกนกวรรณ ทองตะโก นักวรรณศิลป์ ๕ กองธรรมศาสตร์และการเมือง
www.royin.go.th
www.mthai.com
http://campus.sanook.com